แฟ้ม Excel เป็นของลูกจ้างหรือของใคร

ในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ ลูกจ้างนายจ้างต้องช่วยเหลือพึ่งพากัน หากจะเลิกจ้างพนักงานควรคำนึงถึงแฟ้มงานที่ลูกจ้างสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วเป็นสิทธิ์ของลูกจ้าง บางแฟ้มที่สร้างขึ้นใช้งานนานหลายปี ต้นทุนมีมูลค่ามหาศาล แทนที่นึกว่าจะประหยัดเงินค่าพนักงาน จริงๆแล้วจะสูญเสียอย่างมหาศาลจากแฟ้ม Excel ของลูกจ้างที่ต้องสร้างขึ้นมาใช้เองใหม่

เคยมีพนักงานธนาคารฟ้องศาลเรียกร้องค่าเสียหายที่ธนาคารยังใช้แฟ้มงานคำนวณสินเชื่อของพนักงานลาออกไปแล้ว ศาลตัดสินให้บริษัทชดเชยเงินให้พนักงานนับตั้งแต่วันที่ลาออกจนถึงวันสุดท้ายที่ใช้งาน โดยถือว่าสิทธิ์การใช้แฟ้มคำนวณของบริษัทในฐานะนายจ้างนั้นมีอยู่แค่ช่วงที่พนักงานยังเป็นลูกจ้างเท่านั้น

เรื่องฟ้องศาลนี้ผมอ่านพบมานานแล้ว อาจจำพลาดบ้างขออภัย มาดูข้อกฎหมายกันครับ

พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

มาตรา 9 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์ แห่งการจ้างแรงงานนั้น

มาตรา 10 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 14 กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น ย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้าง หรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร

เรื่องหนึ่งที่มักเข้าใจผิดกันว่าลิขสิทธิ์ต้องไปจดทะเบียน ซึ่งตามกฎหมายแล้วลิขสิทธิ์ไม่ต้องไปจดทะเบียน มีผลตามกฎหมายตั้งแต่นำผลงานไปอวดคนอื่น และมีผลควบคุมไปอีก 50 ปีหลังจากสิ้นชีวิตไปแล้ว

หากพนักงานลาออกไปแล้วทิ้งแฟ้มที่ protect ไว้ ต้องระวังให้ดีว่าตกลงในสัญญาจ้างงานกันไว้เช่นไร ระวังให้ดีครับเดี๋ยวจะทำผิดกฎหมาย