หลักการปัดตัวเลข อย่างมีความหมาย

ขอยกคำตอบในไลน์กลุ่ม Excel Expert Group เรื่องการปัดตัวเลข ซึ่งเมื่อนำตัวเลขทั้งหมดที่ปัดแล้วมารวมกันต้องได้เท่ากับยอดรวมทั้งหมดหรือไม่เกิน 100%
++++++++++++++++++++++++++++++

เรื่องการปัดตัวเลข ต้องดูว่าต้องการปัดตัวเลขเพื่อเอาไปใช้อะไรต่อ และเป็นตัวเลขของอะไรครับ

ถ้าเป็นตัวเลขของเงินบาทสตางค์ ต้องใช้ Round ปัดเศษให้เป็นทศนิยม 2 หลัก เพื่อให้ตรงกับใบรับเงิน

ถ้าคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้องหายอดภาษีที่ปัดเศษเหลือทศนิยม 2 หลักแล้วยกไปลบจากยอดเงินที่จ่าย จะได้ยอดเงินหลังหักภาษีซึ่งก็ต้องใช้ Round ให้เหลือทศนิยม 2 หลัก และพอนำยอดภาษี+ยอดหลังหัก ต้องเท่ากับ ยอดก่อนหักภาษีด้วย

แต่ถ้าเป็นการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินเดือน จะหายอดภาษีทั้งปีแล้วหารด้วยจำนวนเดือนเพื่อหายอดภาษีแต่ละเดือน ซึ่งยอดนี้ไม่ต้องปัดเศษแต่ตัดเศษให้เหลือ 2 หลักด้วยสูตร Trunc จากนั้นจึงนำเศษที่ขาดไปของแต่ละเดือนไปเพิ่มในยอดภาษีเดือนสุดท้ายเพื่อรวมกันให้ครบยอดภาษีทั้งปี

ทั้งหมดนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราจะใช้ตัวเลขกี่หลักนั้นแล้วแต่กติกาว่าเอาไปใช้ทำอะไร

ถ้าต้องการแสดงสัดส่วนที่รวมกันเป็น 100% ก็ต้องกำหนดหลักของตัวเองขึ้นมาก่อนว่า จะปัดเศษของแต่ละสัดส่วนไหม หรือจะตัดเศษทิ้ง จากนั้นเมื่อนำทุกสัดส่วนมารวมกันแล้วหากขาดไปไม่ถึง 100% จะเอาไปเพิ่มที่สัดส่วนตัวไหน หากเกิน 100% จะไปลดสัดส่วนตัวไหน หรือจะใช้วิธีกระจายตามค่าถ่วงน้ำหนัก

ใน fb กลุ่มคนรัก Excel เคยมีคำถามว่าต้องการลดราคาสินค้าต่อกันหลายขั้น 5% 12% 7% 10%

ถ้าคิดแบบง่ายๆเข้าว่าแค่นำยอดราคาไปคูณด้วยอัตรา 5% ได้เท่าไรก็เอาไปลดราคาได้ราคาใหม่ พอได้ราคาใหม่ก็เอาไปลดราคา 12% และอัตราอื่นต่อไปแบบเดิมๆอีกจนถึงอัตราสุดท้าย 10%

แต่ถ้าคิดลัดอีกแบบโดยเอาราคาไปคูณด้วย 95% จะได้ยอดหลังลดราคาแล้วเอาไปคูณต่อด้วย 88% 93% 90% น่าคิดว่าจะได้คำตอบเดียวกันไหม

ซึ่งการคิดราคาที่ลดแล้วทั้ง 2 แบบนี้ก็ยังผิดหลักความจริงอยู่ดี เพราะเมื่อคำนวณได้ราคาที่ต้องลดแล้วยังต้องปัดเศษทศนิยมให้เหลือ 2 หลักก่อนแล้วจึงนำไปหักจากราคาออกมาเป็นยอดราคาหลังลดแล้ว จากนั้นจึงนำราคาหลังลดไปปัดเศษก่อนแล้วจึงนำไปลดราคาในอัตราถัดไป